Episode ที่ 3 สู่สนามประลอง
Cyclades VS Chaos in the Old World
เกริ่นนำก่อนจะเริ่มประลองกัน ต้องขอออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาจะฟันธงว่าเกมใดดีกว่ากัน แค่อยากเขียนเปรียบเทียบกันมากกว่า ว่าแต่ละเกมมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร และใครชอบเกมสไตล์ไหน ก็จะได้ลองไปเล่นดู หากผิดพลาดประการใดผู้เขียนขออภัยมา ณ ที่นี้ ด้วยครับ
ด้าน componentแผนที่ -แผนที่ของทั้งสองเกม เป็นอะไรที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน ในเรื่องความความสมดุลและความยืดหยุ่น เมื่อเปรียบมวยกันแล้ว ทาง Cyclades ดูจะได้เปรียบกว่าตรงที่มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เล่นตั้งแต่ 2-5 คนโดยแผนที่มีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ทำให้เกมยังคงความสนุกตามจำนวนคนได้อย่างคงที่ ในขณะที่ Chaosฯ นั้นแผนที่เหมือนเดิมทุกประการ เมื่อผู้เล่นจำนวนลดลง สิ่งที่ต่างออกไป คือ วิธีการเล่นของผู้เล่น ซึ่งอาจทำให้ความสนุกของบางส่วนในเกมสูญเสียไป และด้วยเหตุนี้ Chaosฯ จึงเหมาะที่จะเล่น 4 คนเท่านั้น แต่ที่ Chaosฯ ดูดีกว่า คือ Artwork ของแผนที่สวยงาม และคุณภาพดีมาก ในเรื่องนี้จึงให้ Chaosฯ ชนะไป เพราะจุดด้อยที่ว่าเกี่ยวข้องกับการเล่นมากกว่าด้าน Component
ตัวโมเดล-หากมองที่ความหลากหลายทั้งสองเกมนี่สูสีกันอย่างแยกไม่ออก เพราะต่างใช้โมเดลที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละสี โดยไม่ซ้ำกันให้น่าเบื่อ แต่ในด้านคุณภาพและความสวยงาม ผมว่า Chaosฯ นั้นน่าจะได้คะแนนไปอย่างกินขาดแค่เพียงเสี้ยวหมัด เอาเป็นว่ากรรมการให้คะแนน Chaosฯ ชนะแบบไม่เป็นเอกฉันท์แน่นอน
การ์ด- หากเปรียบกันด้วยรูปลักษณ์ในด้านทัศนศิลป์ละก็ Cyclades รูปมวยสวยงามกว่าเยอะตรงจุดนี้ เพราะ Artwork คุณภาพและสวยงามแทบจะทุกใบทีเดียว โดยรวมแล้วต้องยอมให้ชนะโดยปริยาย เพราะด้านคุณภาพก็ไม่ได้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
อื่นๆ- องค์ประกอบอื่นๆ ทั้งสองเกมทำได้ดี ทั้งในด้านคุณภาพ และ Artwork ที่ดูเหมือนจะไม่จำเป็น แต่ทั้งสองเกมก็ใส่ใจด้านรายละเอียดเหล่านี้ แต่ที่น่าประทับใจผมต้องยกให้ Chaosฯ ที่ใส่ใจในการตัด Token ของแต่ละเผ่าตามขอบได้อย่างสวยงาม ซึ่งหากหลีกเลี่ยงไปใช้รูปทรงเรขาคณิตเดียวกันทั้งหมดก็ทำได้ แต่จุดเด่นของความสวยงามก็คงหายไป ในขณะที่ Cyclades ก็ใส่ใจในการตัดขอบของเหรียญเช่นเดียวกัน แต่ยังไม่เนียนเท่า Chaosฯ ตรงความใส่ใจจุดนี้ Chaosฯ จึงชนะไป
ในภาพรวมของอุปกรณ์ต่างๆ ของเกม หากมองด้านภาพลักษณ์ คุณภาพ ล้วนๆ ละก็จุดนี้ผมยกให้ Chaos in the Old World เข้าเส้นชัยไปอย่างฉิวเฉียด เพราะคุณภาพของอุปกรณ์โดยรวมทำได้ดีกว่า แม้จะแพ้ด้าน Artwork ของการ์ดไปบ้างก็ตาม แต่ได้โมเดลที่สวยงามและวัสดุดี เข้ามาเสริมจึงขอยกคะแนนในด้านนี้ให้ เทพอสูร ชนะไปก่อน 1 หมัด
ด้าน Component: Chaos in the Old World "WIN"
ด้าน Gameplayกฎการเล่น- ในภาพรวม Cycldes ได้เปรียบอย่างมาก เพราะเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ไม่ต้องนั่งวิเคราะห์เชิงมวยกันให้เสียเวลา เปรียบง่ายๆ ว่า Cyclades เล่นไปเกือบครึ่งเกมแล้ว Chaosฯ น่าจะพึ่งเริ่มเล่นเกม เพราะมัวแต่ฟังกฎที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกันกว่าจะจบก็ใช้เวลามากพอควร เพราะรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก หากดูที่ความประทับใจในการเล่นครั้งแรก ผมคิดว่า Cyclades คงจะเยอะกว่า Chaosฯ อย่างแน่นอน แต่ในขณะเดียวกันที่ Chaosฯ ก็สร้างความท้ายทายด้วยการเล่นที่สามารถจบได้หลายแบบ ซึ่งมีความยืดหยุ่นในระหว่างเล่นได้ แต่ก็ไม่น่าจะปิดจุดอ่อนในด้านความซับซ้อนลงไปได้มากมายเท่าไร เพราะระหว่างเล่นสำคัญกว่า หากพลาดส่วนสำคัญเล็กน้อย ชัยชนะก็คงหลุดลอย ต่อให้มีทางเลือกเยอะก็ตาม ในจุดนี้ Cyclades ชนะไปอย่างขาดลอย ด้วยความเรียบง่ายของกฎการเล่น
กลไก- ทั้งสองเกมมีกลไลที่เหมือนกัน และต่างกันในคนละจุด ซึ่งต่างก็เป็นจุดเด่นของทั้งสองเกม สำหรับ Cyclades จุดเด่น คือ ระบบประมูลแบบ Kick Auction ที่หากมองให้ลึกลงไปแล้ว ก็เป็นการประมูลที่เฉือดเฉือนกันไม่ต่างกับในสนามรบแต่อย่างใด ส่วน Chaosฯ นั้นจุดเด่น คือ พลังของผู้เล่นแตกต่างกันตามเผ่า ทำให้การเล่นของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ที่น่าประทับใจ ของระบบนี้ คือ เรื่องความสมดุลที่ทำออกมาได้ดี มีการแพ้ทางกันได้เปรียบกันเป็นงูกินหาง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกมสนุกไม่น้อย และเมื่อเทียบกับกลไกอื่นๆ ที่แต่ละเกมใช้ร่วมกัน อย่าง Dice Rolling ที่ต่างมีจุดเสริมกันให้เล่นด้วยเต๋าอย่างสนุกและลุ้นไม่ต่างกันนัก แต่ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด คือ Area Control ที่ Chaosฯ นำมาใช้ได้อย่างรุนแรงกว่า และเป็นความสนุกในเกมอย่างมาก ในขณะที่ Cyclades นำมาใช้ไม่ชัดเจนมากนัก และไม่ส่งผลต่อความรู้สึกเข้าถึงการแย่งชิงพื้นที่มากนัก เพราะจะให้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นภายในพื้นที่จำกัดทำได้ไม่ยาก แต่ Chaosฯ การครอบครองหมายถึงชัยชนะ ตรงจุดนี้จึงยกให้ Chaosฯ ชนะเฉือนไป
สภาวะสงคราม-สภาวะสงครามของ 2 เกมนี้ มีจุดเด่นที่ต่างกัน หากต้องการสภาวะสงครามที่ตรึงเครียด รบราฆ่าฟันกันจริงจัง ขัดแย้งกันตลอดเวลา ต้องยกให้ Chaosฯ เนื่องด้วยระบบเกมใช้กลไกการครอบครองที่เร่งเล้าการศึกสงครามตลอดเวลา รวมไปถึงเป้าหมายของแต่ละเผ่าที่เน้นการช่วงชิง ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ หรือการตีรันฟันแทง กันอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการนำเข้าสู่สภาวะสงครามนั้นทำได้ง่ายกว่า ในขณะที่ Cyclades นั้นมีเงื่อนไขในการก่อสงครามค่อนข้างเยอะ กว่าจะได้ตีกัน อาจต้องใช้เวลานานด้วยภาวะสงครามเย็น ยืนจ้องหน้า ท้าทายกัน แต่หากมีการต่อยตีกันเกิดขึ้น ก็เป็นสงครามหยุดโลก จึงถือได้ว่าสภาวะสงครามใน Cyclades แม้จะมาช้า แต่ก็มันส์พะยะค่ะ ด้วยจุดนี้แม้ดูเผินๆ Chaos น่าจะได้เปรียบกว่า แต่หากอาศัยผู้เล่นเที่ยวบินสูง ผมว่าสงครามใน Cyclades ก็เย้ายวนด้วยการยั่วยุ และการวางหมากที่สนุกเช่นกัน และน่าจะประทับใจมากกว่า สภาวะสงครามใน Chaosฯ ที่ต่อยตีกันบ่อยจนมองข้ามการวางหมากไปเลยก็มี จึงขอให้ Cyclades ชนะจุดนี้ด้วยความคลาสสิคของสงครามจ้องหน้า
การ Battle- ทั้งสองเกมใช้การทอยเต๋าทั้งคู่ ซึ่งหากเคยเล่นมา เต๋าทั้งสองเกม มันถ่วงทั้งคู่เลยครับพี่น้อง (ทอยเอาฮา) ในจุดนี้การต่อยตีของ Cyclades ยังพอคำนวณหนทางชนะโดยหลีกเลี่ยงดวงได้บ้าง เพราะผลต่างยังไงก็ไม่เกิน 3 ผู้เล่นที่ไร้เทพเจ้าเต๋าเข้าข้างยังพอใช้กล้ามเข้าถล่มคู่ต่อสู้ แบบชนะโดยไม่ต้องทอยได้บ้าง แต่สำหรับ Chaosฯ ต้องอาศัยเทพเจ้าเผ่าที่ 5 คือ ท่านเต๋า เท่านั้นครับ แม้จะต่อยตีได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ชนะแบบเบ็ดเสร็จ แถมมีโกาสโดนต่อยตีสวนกลับมา ก็ชอกช้ำระกำx2 กันไป ด้วยเหตุนี้ดวงในการ Battle ของ Chaosฯ จึงทำให้พ่ายแพ้ต่อ Cyclades ไป
ในภาพรวมแล้ว Gameplay ของ Cyclades มีความโดดเด่นกว่าในด้านความง่ายและไม่ซับซ้อน ในขณะที่ Chaosฯ ฉลาดในการนำระบบกลไกมาใช้ เพื่อสร้างความสนุกในเกมได้อย่างน่าสนใจ เพียงแต่ในการเล่นจำเป็นต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ทั้งวิธีการเล่น หากมากเกินไปด้วยรายละเอียด อาจทำให้การเล่นในบางช่วงเวลานั้นความสนุกหล่นหายไป กับการต้องมานั่งตรวจความถูกต้องจากกฎในเล่ม ตรงจุดนี้ผมจึงขอยกนิ้วให้ Cyclades ชนะไปในยกนี้
ด้าน Gameplay: Cyclades "WIN"
ด้าน Productionธีม (Theme)- ทั้งสองเกมถือได้ว่าออกแบบมาได้เข้ากันกับธีมอย่างมาก ทั้งในด้านการเล่นที่สอดคล้องกับธีมของเกมในภาพรวม แต่เนื่องจาก Cyclades นั้นเป็นธีมสากล ที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ไม่ยากเลย ในขณะที่ Chaosฯ นั้นต้องอาศัยเนื้อเรื่องจาก Warhammer Fantasy ถ้าหากไม่ใช่สาวก หรือเคยรู้จักมาก่อนแล้วละก็ อาจจะไม่เข้าถึงหรืออิ่มเอิบกับความเข้ากันของเกมนี้กับธีมที่ดูดุดัน ด้วยเหตุนี้หากมองในด้านการเข้าถึงและได้อารมณ์ร่วมระหว่างเล่นเกม Cyclades จึงทำได้ดี และเข้มข้นกว่า จากองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมดที่ทำให้ธีมแน่นขึ้นไปอีก ผมจึงขอให้ Cyclades ชนะในเรื่องนี้
นักออกแบบ- สำหรับด้านนี้หากเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอด และรู้จักนักออกแบบเป็นอย่างดีคงตัดสินข้อนี้ได้โดยไม่ยากมากนัก แต่สำหรับตัวผมนี้ ผมแทบไม่รู้จักชื่อเสียงของนักออกแบบของทั้งสองเกมนี้เลย เมื่อเทียบกับนักออกแบบเกมดังๆ ที่เป็นที่นิยม ซึ่งผมอาจพอรู้ที่มาที่ไปบ้างไม่มากก็น้อย แต่หากให้ผมมองถึงเกมที่นักออกแบบของทั้งสองเกมนี้ เคยออกแบบแล้วเอามาเทียบกัน ตัวผมคงให้น้ำหนักไปทางผู้ออกแบบ Chaosฯ มากกว่าอีกฝ่าย เนื่องจากผมค่อนข้างชอบเกมที่เค้าคนนี้ออกแบบ แต่จะให้ตัดสินเพราะมีข้อมูลและความชอบของฝ่ายนี้มากกว่า ก็คงไม่ยุติธรรม (ในความคิดส่วนตัวนะครับ) ดังนั้นขอยกย่องนักออกแบบทั้งสองเกม ให้มีศักดิ์ศรีเทียบเท่ากัน จึงยกนิ้วคู่ให้ทั้งสองเกมเสมอกันในจุดนี้
Publisher- สำหรับค่ายเกมของทั้งสองเกมนี้ ด้าน Chaosฯ ได้เปรียบกว่าเยอะ เนื่องด้วยเป็นค่ายที่ผลิตเกมคุณภาพออกสู่ตลาดมากมาย โดยเฉพาะเกมที่เน้นความอลังการ และหนักแน่นด้วยธีม แถมคุณภาพด้านอุปกรณ์ต่างๆ ที่โดดเด่น การันตีถึงคุณภาพได้เป็นอย่างดี ผมจึงไม่ต้องลังเลที่จะยกนิ้วให้ Chaosฯ มีชัยเหนือ Cyclades
รางวัลและเกียรติยศ- ด้วยความสมศักดิ์ศรี ของทั้งสองเกม ทำให้ทั้งสองเกมถูกเสนอชื่อในรายการต่างๆ มากมาย พอๆ กันเลยทีเดียว ถือเป็นมวยระดับคู่เอก ที่ครองแชมป์กันมาจากหลายสนาม ถ้าให้เปรียบมวยกัน กูรูที่ไหนก็คงจะคาดเดาผลที่จะออกได้ยาก เพราะสมน้ำสมเนื้อกนอย่างมาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ผมขอตัดสินให้เสมอกัน
ด้าน Production: "Draw"
เอาละสิ งานเข้าแล้วครับ ผมรวมในแต่ละด้านสูสีมาก ในด้าน Component ทาง Chaosฯ เข้าวินไปก่อน แต่ Cyclades ก็เอาคืนในด้าน Gameplay อย่างสมน้ำสมเนื้อ มาถึงหัวข้อสุดท้าย ทั้งคู่ชนะกันไปคนละหัวข้อ ที่เหลือเสมอกันไป ส่งผลให้ทั้งสองเกมคะแนนเท่ากัน หมดสนุกกันเลยคราวนี้ แต่ช้าก่อน เมื่อเทพ กับอสูร ได้มาประมือกันในวันนี้ คงต้องเอาให้รู้ผบแพ้ชนะกันไป ทั้งนี้หากเปรียบเทียบความสำคัญในแต่ละด้าน แล้วละก็ หลายๆ คนน่าจะเห็นด้วยกับผมที่จะฟันธงให้ Cyclades มีชัยในครั้งนี้ เนื่องด้วย Gameplay ที่เข้าถึงง่าย ธีมแน่น Artwork เด่น แค่นี้ผมเชื่อว่าก็ทำให้หลายคนยอมควักกระเป๋า ไปถอยเกมนี้มาครอบครอง ทั้งตัวหลักและตัวเสริม สรุปท้ายได้ว่า Cyclades เป็นผู้ชนะในการประมือครั้งนี้ไปอย่างสมศักดิ์ศรี
ผู้ชนะคือ "Cyclades"
ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านนะครับ หวังว่าผมคงจะได้มีโอกาสเปรียบมวยกับเกมอื่นๆ อีกในอนาคต เพราะโอกาสที่จะเจอเกมที่เหมาะสมจะเปรียบมวยกันอย่างคู่คี่สูสีเช่นนี้ คงไม่ได้เกิดขึ้นง่าย เพราะทั้งสองเกมนี้ เหมือนกันในหลายเรื่อง อาทิ เกิดปีเดียวกัน ระบบคล้ายกัน จุดเด่นครบครันเช่นกัน ผมหวังว่ารีวิวทั้ง 3 ตอนคงพอสร้างความสนุกให้กับผู้อ่านได้ไม่มากก็น้อยนะครับ
ขอบคุณครับ
***Link ที่เกี่ยวข้อง***[Review Contest] มหาเทพ ปะทะ เทพอสูร [Episode I:Cyclades]
[Review Contest] มหาเทพ ปะทะ เทพอสูร [Episode II:Chaos in the Old World]
ThankCool By: DOEME, maemooyong, seapig, roid